วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2556

กิจกรรมเสริมประสบการณ์


กิจกรรมเสริมประสบการณ์ หมายถึง กิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวอย่างมีจุดหมาย ฝึกให้เด็กคิด แก้ไขปัญหาอย่างมีเหตุผล ฝึกการเข้าสังคม และฝึกการใช้ภาษา ผ่านการปฏิบัติด้วยตนเอง โดยใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ด้วยวิธีการจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย เช่น การสนทนา อภิปราย การเล่านิทาน การสาธิต ทดลอง การปฏิบัติการ การศึกษานอกสถานที่ การเล่นบทบาทสมมุติ ร้องเพลง ท่องคำคล้องจอง เล่นเกม
  การเรียนรู้แบบลงมือกระทำ (Active Learning) เป็นการเรียนรู้ซึ่งเด็กได้จัดกระทำกับวัตถุ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคล ความคิด และเหตุการณ์ จนกระทั่งสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง (Hohmann and Weikart, 1995) การเรียนรู้แบบลงมือกระทำเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาเด็ก
กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดไว้ในคู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 ให้สถานศึกษาปฐมวัยจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ให้แก่เด็กในความดูแล เนื่องจากกิจกรรมเสริมประสบการณ์จะช่วยส่งเสริมให้เด็กปฐมวัยเจริญเติบโด เป็นผู้ที่คิดอย่างมีเหตุผล มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น รู้จักการช่วยเหลือตนเอง มีพัฒนาการทางภาษาได้เหมาะสมตามวัย ได้ฝีกคิด แก้ไขปัญหา ใช้เหคุผล ฝึกการทำงาน และเข้าสังคมกับเพื่อน เพื่อให้เกิดความรู้เกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ที่เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติด้วยตนเองที่ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า และการใช้ภาษาจากกิจกรรมที่ครูและผู้ปกครองร่วมมือจัดให้เด็กด้วยวิธีการที่ หลากหลาย เช่น การศึกษานอกสถานที่ การเล่านิทาน การแสดงบทบาทสมมติ การทดลอง การสาธิต การอภิปราย เป็นต้นกิจกรรมเสริมประสบการณ์มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการคิดของเด็กปฐมวัย เพราะลักษณะการจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์อยู่บนพื้นฐานตามแนวคิดว่า เด็กทุกคนมีศักยภาพในการสร้างองค์ความรู้ โดยอาศัยสภาพจริงที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมและวัฒนธรรมของคน โดยจัดอย่างสอดคล้องกับธรรมชาติของเด็กปฐมวัย ซึ่งเป็นวัยแห่งการเรียนรู้ผ่านการสัมผัส การซึมซับ การเลียนแบบ การกระทำ การเล่นอย่างมีความสุข เพราะการที่เด็กได้ทดลองด้วยตนเองนั้นจะส่งผลต่อการพัฒนาความสามารถในการ สรุปข้อค้นพบหรือเรียกว่า องค์ความรู้ ได้จากประสบการณ์ตรง เด็กได้มีโอกาสปฏิบัติโดยวิธีการที่หลากหลาย อีกทั้งยังเป็นการฝึกเด็กให้ได้คิดแก้ ปัญหา ใช้เหตุผลและฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับเรื่องที่เรียน ด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่ การสนทนา การอภิปราย การเล่านิทาน การสาธิต การใช้คำถาม การทดลอง ปฏิบัติการ ศึกษานอกสถานที่ การเล่านิทาน บทบาทสมมติ การร้องเพลง เล่นเกม ท่องคำคล้องจอง ฯลฯ เนื่องจากวิธีการดังกล่าว เด็กได้มีโอกาสคิด ได้ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมซึ่งส่งเสริมให้เด็กได้มีโอกาสอยู่ในสังคมและมี ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เด็กได้ทดลองปฏิบัติ ให้เด็กได้สังเกตได้ค้นพบด้วยตนเองผ่านกิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่ช่วยส่งเสริม การคิดวิจารณญาณของเด็กปฐมวัยอยู่ในระดับที่ดี ทั้งนี้เพราะรูปแบบการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เด็กเป็นผู้ลงมือปฏิบัติการทดลองด้วยตนเอง เด็กได้สำรวจวัสดุ บอกความเหมือนความแตกต่างของวัสดุอุปกรณ์ตามลักษณะและคุณสมบัติ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่งเพราะกิจกรรมวิทยาศาสตร์เป็นการจัดกิจกรรม สำหรับเด็กในกิจกรรมเสริมประสบการณ์
ความสำคัญ
กิจกรรมที่จัดมุ่งฝึกให้เด็กได้มีโอกาสฟัง พูด สังเกต คิดแก้ปัญหา ใช้เหตุผล และฝึกปฏิบัติเพื่อให้เกิดความคิดรวบยอดเกี่ยวกับเรื่องที่เรีย
สมองของเด็กเล็กได้รับความสนใจในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา เราได้เรียนรู้ว่าสมองถูกออกแบบมาเพื่อการเรียนรู้ คำอธิบายเกี่ยวกับเรื่องของสมองของเด็กเล็กชี้ชัดว่าการเชื่อมต่อของเซลส์สมองของเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว เครือข่ายเซลส์สมองที่เชื่อมต่อกันนี้มีความสำคัญมากต่อการเรียนรู้ ประสบการณ์ต่างๆ ที่เด็กได้รับจะถูกป้อนเข้าสู่สมองของเด็ก และเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเชื่อมต่อของเส้นใยประสาท เส้นใยประสาทและจุดเชื่อมต่อที่ทำงานอยู่เสมอจะมีการสร้างไขมันล้อมรอบ (Myelinization) ทำให้การเคลื่อนไหวของกระแสไฟฟ้าในเส้นใยประสาทเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ และเป็นการป้องกันไม่ให้เครือข่ายเส้นใยประสาทถูกกำจัดไป ดังนั้น การที่จะทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ จึงต้องให้เด็กได้รับประสบการณ์ต่างๆ อย่างเหมาะสม
การจัดการเรียนรู้บนฐานขององค์ความรู้
1. จัดการเรียนรู้โดยไม่แยกเป็นส่วนๆ ให้สอดคล้องกับธรรมชาติของสมองมนุษย์ ซึ่งสามารถทำงานได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน และการเรียนรู้เกี่ยวข้องกับสรีระทั้งหมดของร่างกาย
2. จัดการเรียนรู้โดยให้เด็กได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เพราะการเปลี่ยนแปลงต่างๆของสมองเกิดจากความสัมพันธ์ทางสังคม
3. จัดการเรียนรู้โดยตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐานตามธรรมชาติในการค้นหาความหมายด้วยการให้เด็กได้สำรวจและเรียนรู้สิ่งต่างๆ
4. จัดการเรียนรู้โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้กำหนดรูปแบบในการเรียนรู้และทำความเข้าใจของตนเอง เนื่องจากสมองจะทั้งรับรู้และทำความเข้าใจรูปแบบต่างๆที่เกิดขึ้นแต่สมองจะสร้างและแสดงออกด้วยรูปแบบของตัวเอง
5. จัดบรรยากาศที่เหมาะสมซึ่งเอื้อให้เกิดการเรียนรู้ เนื่องจากอารมณ์และการเรียนรู้เป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้และอารมณ์มีผลต่อรูปแบบการเรียนรู้
6. จัดการเรียนรู้ทั้งการเรียนรู้ที่เป็นภาพรวมและที่เป็นส่วนย่อย เพื่อตอบสนองต่อข้อความรู้ที่ว่าสมองจะทำการแบ่งข้อมูลออกเป็นส่วนๆและทำความเข้าใจโดยภาพรวมสมองทั้งสองซีกจะทำงานอย่างสัมพันธ์กันในทุกๆกิจกรรม              
7. จัดการเรียนรู้โดยใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมในการเรียนรู้ในทุกแง่มุม เพราะการเรียนรู้ของสมองจะประกอบด้วยจุดสนใจหลักและรับรู้สิ่งต่างๆรอบตัวไปพร้อมๆกัน
                  
8. ออกแบบการจัดการเรียนรู้ซึ่งเอื้อให้ผู้เรียนได้ค่อยๆ ต่อเติมแนวคิด ทักษะ และประสบการณ์ จนกระทั่งเข้าใจและเกิดการเรียนรู้ เพราะการเรียนรู้อาจเกิดขึ้นโดยที่ตระหนักในสิ่งที่กำลังเรียนรู้ และไม่ได้ตระหนักว่าเกิดการเรียนรู้ การเรียนรู้อาจไม่ได้เกิดขึ้นอย่างทันทีแต่ต้องใช้เวลาที่ค่อยๆเกิดขึ้น                   
9. จัดการเรียนรู้จากสิ่งที่มีความหมายต่อผู้เรียน เนื่องจากการเรียนรู้ที่อย่างมีความหมายต่อผู้เรียนเป็นผลมาจากทั้งระบบการจำเป็นมิติและการท่องจำ
10. จัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับหน้าต่างโอกาสของการเรียนรู้ (Windows of opportunity)และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
11. จัดบรรยากาศที่ปราศจากความกลัว และมีความท้าทายให้ต้องการเรียนรู้ เนื่องจากความท้าทายจะช่วยกระตุ้นให้ต้องการเรียนรู้ส่วนความกลัวจะยับยั้งการเรียนรู้
12. จัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับความแตกต่างของเด็กเป็นรายบุคคล เนื่องจากสมองของแต่ละคนล้วนแตกต่างกัน ซึ่งเกิดจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน
                แนวคิดดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า การจัดประสบการณ์การเรียนรู้อย่างสอดคล้องกับหลักการทำงานของสมองเป็นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง กล่าวคือ เป็นการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่เด็กมีอิสระในการ เลือกเรียนตามความสนใจ และความสามารถ ได้ฝึกคิด วิเคราะห์ วางแผน ปฏิบัติจริง และสร้างความรู้ด้วยตนเอง มีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์และเรียนรู้จากบุคคลอื่น ได้ทำกิจกรรมที่ท้าทายและเกิดความสำเร็จ ได้เรียนรู้ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย อบอุ่น และยอมรับ และมีโอกาสนำความรู้ที่เรียนไปใช้อย่างมีความหมาย








บทบาทครู
การจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ครูควรจัดกิจกรรมที่หลากหลาย โดยเน้นให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง และมีโอกาสค้นพบด้วยตนเองให้มากที่สุด ยืดหยุ่นในเรื่องระยะเวลาตามความสนใจของเด็ก เปิดโอกาสให้เด็กได้ฝึกคิดด้วยการใช้คำถามปลายเปิด และยอมรับความคิดเห็นที่หลากหลายของเด็ก
กิจกรรมเสริมประสบการณ์ที่ครูจัดให้ลูกที่โรงเรียนตามที่กระทรวง ศึกษาธิการกำหนดไว้ในหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 มีดังนี้
  • การสนทนา อภิปราย เป็นการสร้างเสริมพัฒนาการทางภาษาในการพูด การฟัง รู้จักแสดงความคิดเห็นและยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ผ่านสื่อของจริง ของจำลอง รูปภาพ สถานการณ์จำลอง ฯลฯ
  • การเล่านิทาน เป็นการเล่าเรื่องต่างๆ ส่วนมากจะเน้นการปลูกฝังให้เด็กเกิดคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้เด็กเข้าใจสิ่งที่เป็นรูปธรรมได้ดีขึ้น โดยมีสื่อประกอบเป็นรูปภาพ หนังสือนิทาน หุ่น หรือการแสดงท่าทางประกอบการเล่าเรื่อง
  • การสาธิต เป็นการจัดกิจกรรมที่ให้เด็กได้สังเกตและเรียนรู้ขั้นตอนของกิจกรรมเพื่อนำ ไปสู่การปฏิบัติจริง บางครั้งครูอาจให้เด็กเป็นผู้สาธิตร่วม เช่น การเพาะเมล็ด การเป่าลูกโป่ง การทำกระดาษสา ฯลฯ
  • การทดลอง/ปฏิบัติการ เป็นกิจกรรมที่เด็กจะได้รับประสบการณ์ตรงในการลงมือทำด้วยตน เอง ได้ฝึกสังเกตการเปลี่ยนแปลง การคิดแก้ปัญหา และส่งเสริมให้เด็กมีความอยากรู้อยากเห็น และค้นพบด้วยตนเอง เช่น การประกอบอาหาร การทดลองวิทยาศาสตร์ง่ายๆ การเลี้ยงหนอนผีเสื้อ การปลูกพืช ฯลฯ
  • การศึกษานอกสถานที่ เป็นการจัดกิจกรรมที่เด็กได้รับประสบการณ์ตรงโดยการพาเด็กไปทัศนศึกษาสิ่ง ต่างๆนอกสถานศึกษา เพื่อเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์แก่เด็ก
  • การเล่นบทบาทสมมุติ เป็นการให้เด็กสมมุติตนเองเป็นตัวละครต่างๆ ตามเนื้อเรื่องในนิทานหรือเรื่องราวต่างๆ อาจมีวัสดุอุปกรณ์ประกอบ เช่น หุ่นสวมศีรษะ ที่คาดศีรษะรูปคน สัตว์ เครื่องแต่งกาย และอุปกรณ์ของจริงต่างๆ
  • การร้องเพลง เล่นเกม ท่องคำคล้องจอง เป็นการจัดให้เด็กได้แสดงออกเพื่อความสนุกสนาน เพลิดเพลิน และเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาและจังหวะ หรือเกมที่ไม่เน้นการแข่งขัน






อ้างอิง
1.       คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. (2542). การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย. กรุงเทพมหานคร: เซเว่น พรินติ้ง กรุ๊ป.
2.       ศึกษาวิชาการ, กระทรวง. (2546). หลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 กรุงเทพมหานคร: กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ.
3.       เสกสรร มาศวังแสง (2552). การคิดวิจารณญาณของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต สาขาการศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
4.       สุวิทย์ มูลคำ และอรทัย มูลคำ (2545). 19 วิธีจัดการเรียนรู้: เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะ. กรุงเทพมหานคร: ภาพพิมพ์.

5.       Wardle, F. (2003). Introductions to Early Childhood Education A Multidimensional Approach to Child-Centered Care and Learning. U.S.A.: Pearson Education.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น