วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เกมการศึกษา

                          เกมการศึกษาหมายถึง กิจกรรมการเล่นที่ช่วยพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็ก แต่เน้นทางสติปัญญา มีกฎกติกาง่ายๆ เหมาะสำหรับเด็กปฐมวัยและความสนุกสนานจากการเล่น มีกระบวนการในการเล่นจากสื่อตามชนิดของเกมประเภทต่างๆ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งที่เรียน เด็กสามารถเล่นคนเดียวและเล่นเป็นกลุ่มได้ เกมการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัย 3-5ขวบ เช่น เกมจับคู่ แยกประเภท จัดหมวดหมู่ เรียงลำดับ วางภาพต่อปลาย (Domino) เกมศึกษารายละเอียดของภาพ (Lotto) ภาพตัดต่อ (Jig-saw puzzle)
                          เกมการศึกษาเป็นสื่อการเรียนรู้และกิจกรรมหลักตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 ที่ใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อพัฒนาเด็กให้เกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาปฐมวัย และเน้นทางด้านสติปัญญาหรือการคิดให้แก่เด็ก เกมการศึกษามีหลายประเภท มีรูปแบบและวิธีเล่นแตกต่างกันไป สิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมความคิดให้แก่เด็กคือ การเล่นเกมการศึกษาควรมีคำถามกระตุ้นให้เด็กได้คิดด้วย เพราะตามธรรมชาติของเด็กมีความสงสัยใคร่รู้อยู่เสมอ และเมื่อเด็กได้รับการกระตุ้นด้วยคำถามซึ่งเป็นสิ่งเร้าที่ดีชวนให้เด็ก สงสัย จูงใจให้เด็กเกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพทางความคิดที่เด็กมีอยู่ในตัว ตนให้ก้าวขึ้นสู่ขีดสูงสุด และเมื่อผู้ใหญ่เข้าใจธรรมชาติของเด็กได้ให้การสนับสนุนเด็กหรือตอบ สนองเด็กด้วยความเต็มใจที่จะตอบแก่เด็ก เด็กก็เกิดความพร้อมที่จะเรียนรู้ โดยปกติแล้วเด็กปฐม วัยจะช่างสังเกตและสำรวจสิ่งต่างๆที่อยู่แวดล้อมตัวเอง เมื่อจัดอุปกรณ์หรือสิ่งเร้ามาให้เด็กพัฒนา การสังเกต โดยใช้ประสาทสัมผัสรับรู้ทุกด้าน เด็กจะพัฒนาการคิดได้อย่างดี เกมการศึกษาเป็นสิ่งเร้าที่ดี เป็นสื่อและกิจกรรมที่เด็กสังเกตเห็นได้อย่างเด่นชัด เปรียบเทียบหาความแตกต่างของสิ่ง ของหรือหารายละเอียดบางอย่างในภาพขณะเดียวกันมีคำถามชวนให้เด็กสังเกตมาก ขึ้น ได้คิด จะช่วยให้เด็กมีการพัฒนาเป็นผู้ใฝ่รู้และหาความจริงจากสิ่งที่เห็น หรือได้คิด ช่วยให้เด็กกล้าแสดงออก เรียนรู้ที่ฟังผู้อื่นได้
                          เกมการศึกษาที่นำมาจัดกิจกรรมควรเหมาะสมกับวัย ระยะเวลา และความสามารถของเด็ก สอดคล้องกับจุดมุ่งหมาย โดยจัดให้มีเกมที่เล่นเดี่ยวและเล่นเป็นกลุ่ม ควรมีเกมจำนวนเพียงพอกับจำนวนเด็ก และหากเป็นเกมใหม่ ควรมีการสาธิตวิธีเล่น ครูอาจใช้เกมการศึกษาเป็นขั้นนำเข้าสู่บทเรียนหรือจัดไว้ในมุมประสบการณ์ก็ ได้
เกมการศึกษามีประโยชน์ต่อเด็กปฐมวัยได้ครบทุกด้านทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม เด็กได้เรียนรู้ผ่านการเล่นที่เหมาะสมสอดคล้องกับธรรมชาติของเด็ก โดยจะช่วยส่งเสริมให้มีทักษะต่างๆ ดังนี้
  • ส่งเสริมการสังเกตและเปรียบเทียบจากของจริง วัสดุสิ่งของต่างๆ และรูปภาพ
  • ส่งเสริมการใช้ความคิดอย่างมีเหตุผล การตัดสินใจแก้ปัญหา
  • ส่งเสริมการใช้กล้ามเนื้อเล็กและการประสานสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา
  • ส่งเสริมการเล่นร่วมกัน เป็นการสร้างสัมพันธภาพอันดีกับผู้อื่น เพราะในบรรยากาศการเล่นนั้นเป็นการฝึกฝนการยอมรับผู้อื่น และการที่ผู้อื่นยอมรับตนได้ เป็นการเรียนรู้การเข้าสังคม เด็กจะแสดงพฤติกรรมจากการสนทนาถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน
  • ส่งเสริมให้เด็กมีความกล้าในการแสดงออก กล้าพูด กล้าคิด โดยครูควรมีคำถามให้คิดเกี่ยวกับภาพในเกมหรือเรื่องราวจากเกม
  • ส่งเสริมให้เป็นคนยอมรับการแพ้ ชนะ การทำตามกติกา
  • ส่งเสริมให้เด็กเกิดความเพลิดเพลิน และผ่อนคลายจากกิจกรรมอื่น เด็กจะร่าเริงแจ่มใสและมองโลกในแง่ดี
  • ส่งเสริมนิสัยดีให้แก่เด็ก เช่น การมีวินัยในตนเองและหมู่คณะ ความอดทนอดกลั้น ความชื่อสัตย์ การเป็นผู้นำผู้ตาม เป็นต้น
  • ส่งเสริมให้เด็กค้นคว้าด้วยตนเองจากสื่อการเล่นและเรียนรู้ที่จะเล่นจากวิธีการเล่น
  • ส่งเสริมทักษะที่ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า คือ ทักษะการฟัง การดู การดม การชิม และการจับสัมผัส เกมการศึกษาเปิดโอกาสให้เด็กได้กระทำ ได้สำรวจ ค้นคว้า จึงเป็นประสบการณ์ตรงที่เด็กเต็มใจรับด้วยความสนุก ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้ดีที่สุด
กระทรวงศึกษาธิการได้นำเสนอประเภทของเกมการศึกษาไว้ 8 ประเภท ดังนี้
1.       เกมจับคู่ เช่น
o    จับคู่รูปร่างที่เหมือนกัน
o    จับคู่ภาพกับเงา
o    จับคู่ภาพที่ช่อนอยู่ในภาพหลัก
o    จับคู่สิ่งที่มีความสัมพันธ์กัน สิ่งที่ใช้คู่กัน
o    จับคู่ภาพส่วนเต็มกับส่วนย่อย
o    จับคู่ภาพกับโครงร่าง
o    จับคู่ภาพกับชิ้นส่วนที่หายไป
o    จับคู่ภาพที่เป็นประเภทเดียวกัน
o    จับคู่ภาพที่ซ้อนกัน
o    จับคู่ภาพสัมพันธ์แบบตรงกันข้าม
o    จับคู่ภาพที่สมมาตรกัน
o    จับคู่แบบอุปมาอุปไมย
o    จับคู่แบบอนุกรม
2.       เกมภาพตัดต่อ (Jig-saw puzzle) เช่น ต่อภาพตัดต่อที่สัมพันธ์กับหน่วยการเรียน เช่น ต่อภาพปลา เมื่อเรียนหน่วยปลา ต่อภาพผลไม้ เมื่อเรียนหน่วยผลไม้ เป็นต้น
3.       เกมจัดหมวดหมู่
o    ภาพสิ่งต่างๆที่นำมาจัดเป็นพวกๆ
o    ภาพเกี่ยวกับประเภทของใช้ในชีวิตประจำวัน
o    เกมจัดหมวดหมู่ตามรูปร่าง สี ขนาด รูปทรงเรขาคณิต
4.       เกมวางภาพต่อปลาย (Domino)
o    โดมิโนภาพเหมือน
o    โดมิโนสัมพันธ์
5.       เกมเรียงลำดับ
o    เรียงลำดับภาพเหตุการณ์ต่อเนื่อง
o    เรียงลำดับขนาด
o    เกมศึกษารายละเอียดของภาพ (Lotto)
6.       เกมจับคู่แบบตารางสัมพันธ์ (Matrix)
7.       เกมพื้นฐานการบวก
พ่อแม่สามารถเล่นเกมการศึกษาร่วมกับลูกได้ โดยนำวัสดุเหลือใช้ที่มีในบ้านมาใช้เป็นสื่อได้ ตัวอย่างเช่น
  • เกมต่อภาพตัดต่อ นำภาพจากปฏิทินเก่า มาตัดออกเป็น 4 ชิ้น ให้ลูกลองต่อ หากลูกต่อได้ ตัดเพิ่มเป็น 5 ชิ้น และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
  • เกมเรียงลำดับ ตัดกระดาษหนังสือพิมพ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆกัน จำนวน 3-5 ชิ้น ให้ลูกวางเรียงลำดับขนาดจากเล็กไปใหญ่ หรือจากใหญ่ไปเล็ก จากนั้นเพิ่มจำนวนหรือเปลี่ยนเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือวงกลม
  • เกมจัดหมวดหมู่ตามประเภทของใช้ ช่วยกันตัดภาพจากเมล์โฆษณาสินค้า แล้วให้ลูกจัดภาพให้เป็นหมวดหมู่ เช่น ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ เครื่องครัว เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ
  • เกมจัดหมวดหมู่ตามสี นำของเล่น ของใช้มาให้ลูกแบ่งเป็นกลุ่มตามสี
  • เกมพื้นฐานการบวก ตัดตัวเลขจากปฏิทินเก่ามาให้ลูกเรียงลำดับ ผลัดกันเลือกตัวเลขที่ชอบ แล้วนับจำนวนสิ่งของใกล้ตัวให้ครบตามตัวเลข
อ้างอิง
1.       ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุบผา เรืองรอง อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
2.       ทิศนา แขมมณี ( 2544 ). วิทยาการด้านความคิด. กรุงเทพ: เดอะมาสเตอร์กรุ๊ป.
3.       พรเพ็ญ ศรีวิรัตน์ (2546). การคิดอย่างมีวิจารณญาณของเด็กปฐมวัยที่ได้รับการเล่นเกมฝึกทักษะการคิด. ปริญญานิพนธ์การศึกษามหาบัณฑิต การศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ.
4.       พรวิไล เลิศวิชา (2550). สมองกับการเรียนรู้. กรุงเทพมหานคร: สถาบันวิทยาการการเรียนรู้ .
5.       ศึกษาธิการ. กระทรวง (2547). คู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภา.

6.       Dill,W.R. (1991). Management of Human Resources: What Management Game Do Best. New York: McGraw – Hill. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น