วันเสาร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2556

กิจกรรมเสรี

เสรี


กิจกรรมเสรีเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็ก เล่นอย่างอิสระตามมุมการเล่น หรือมุมประสบการณ์ หรือศูนย์การเรียนที่จัดไว้ภายในห้องเรียน เช่น มุมบล็อก มุมหนังสือ มุมวิทยาศาสตร์ มุมธรรมชาติ มุมเครื่องเล่นสัมผัส มุมบทบาทสมมติ เป็นต้น มุมต่าง ๆ เหล่านี้เด็กมีโอกาสเลือกเล่นได้อย่างอิสระตามความสนใจและความต้องการของ เด็ก โดยมีจุดมุ่งหมายส่งเสริมให้เด็กคิดตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการวางซึ่งในการเล่นตามุมนี้ เด็กอาจจะเล่นคนเดียว หรือเล่นเป็นกลุ่มย่อยก็ได้ เพื่อเด็กได้มีโอกาสเรียนรู้การเข้าสังคมด้วยการเล่นกับเพื่อนและผู้อื่น
                                            
ความสำคัญ
กิจกรรมเสรีหรือกิจกรรมเล่นตามมุมที่โรงเรียนจัดให้เด็กเล่นอย่างอิสระ เป็นกิจกรรมหลักกิจกรรมหนึ่งตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546 ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยเปิดโอกาสให้เด็กได้เลือกเล่นอย่างอิสระจากของเล่นตามมุมประสบการณ์หรือ ศูนย์การเรียนที่จัดไว้ในห้องเรียน เช่น มุมบล็อก มุมหนังสือ มุมธรรมชาติ มุมบ้าน มุมร้านค้า เป็นต้น นอกจากจะให้เด็กเล่นตามมุมแล้ว ครูอาจจะให้เด็กทำกิจกรรมที่ครูจัด เช่น เกมการศึกษา เครื่องเล่นสัมผัส กิจกรรมสร้างสรรค์ประเภทต่างๆ ซึ่งการจัดกิจกรรมเสรีนี้เป็นการให้เด็กได้เล่นอิสระ ตอบสนองความสนใจของตนเอง เด็กจึงมีโอกาสได้คิด ตัดสินใจ แก้ปัญหาและพัฒนาความรู้ โดยผู้ใหญ่เลือกใช้วิธีการส่งเสริมให้เด็กเล่นด้วยวิธีการที่เหมาะสมและสอด คล้องกับธรรมชาติของเด็ก ให้เด็กได้คิดรูปแบบการเล่นตามความสนใจและความต้องการ ทั้งที่เล่นเป็นรายเดี่ยวและเล่นเป็นรายกลุ่ม จึงเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้การเข้าสังคมของเด็กปฐมวัย ทั้งนี้เพราะการเล่นเป็นกิจกรรมที่สำคัญในชีวิตเด็กทุกคน เด็กจะรู้สึกสนุกสนาน เพลิดเพลิน ได้สังเกต ได้เรียนรู้ความรู้สึกของผู้อื่น มีโอกาสทำการทดลอง สร้างสรรค์ คิดแก้ปัญหา และค้นพบด้วยตนเอง ได้ใช้ประสาทสัมผัส การรับรู้ ผ่อนคลายอารมณ์ และแสดงออกถึงตนเอง ผลจากเล่นจะทำให้เด็กเกิดพัฒนาการด้านร่างกาย อารมณ์ จิตใจ สังคม และสติปัญญา ซึ่งจะพัฒนาลักษณะทางสังคมของเด็กปฐมวัยผ่านการเล่นและทำกิจกรรมร่วมกับผู้ อื่น เช่น การให้ความร่วมมือ การเป็นผู้นำผู้ตาม การเห็นอกเห็นใจ การแบ่งปันสิ่งของ การช่วยเหลือตนเอง และการเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่นได้


การเล่นเสรีหรือกิจกรรมเสรีมีประโยชน์ต่อเด็กในการส่งเสริมพัฒนาการเด็กทุกส่วน ดังนี้
  • ด้านร่างกาย เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อเล็กและกล้ามเนื้อใหญ่
  • ด้านอารมณ์-จิตใจ เด็กจะร่าเริงเบิกบาน มีอิสระในการเลือกเล่นสิ่งที่ตนสนใจ เด็กได้ระบายอารมณ์และความรู้สึกขณะเล่น ผ่อนคลายความตึงเครียด
  • ด้านสังคม เด็กรู้จักตนเอง รู้จักบุคคลรอบด้าน (จากการเล่นสมมุติ) รู้จักเพื่อนที่เล่นด้วย ขณะเล่นเด็กได้มีโอกาสรู้จักบทบาทของตนเองและผู้อื่น รู้จักการผ่อนปรนและรอคอย อดทนต่อความไม่สมหวัง รู้จักการแบ่งปัน รู้จักการร่วมมือกับคนอื่น เป็นต้น
  • ด้านสติปัญญา เด็กได้หัดใช้ความคิด ตัดสินใจแก้ปัญหา ได้มีโอกาสสืบค้นหาคำตอบหรือบางครั้งการเล่นทำให้เด็กได้สร้างความรู้ โดยไม่ต้องจัดกิจกรรมอย่างเป็นทางการ เช่น การที่เด็กเล่นน้ำ เด็กกรอกน้ำใส่ขวด เด็กจะได้เห็นน้ำไหลผ่านปากขวดไปอย่างง่ายดาย แตกต่างจากการเอาก้อนหินใส่ขวดและหากก้อนหินก้อนใหญ่กว่าปากขวด ก้อนหินจะไม่ผ่านปากขวดไป เด็กได้เห็นน้ำแปรเปลี่ยนรูปร่างเช่นเดียวกับขวด เห็นมือของเขาเปียกน้ำ แต่สักครู่มือก็แห้งได้ น้ำหายไปไหน เป็นต้น การเล่นเสรีจึงเป็นส่วนการเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็ก

วัตถุประสงค์ย่อย
1. ส่งเสริมพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อใหญ่ กล้ามเนื้อเล็ก และประสาทสัมพันธ์ระหว่างมือกับตา
2. ส่งเสริมให้เด็กพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ
3. ฝึกให้เด็กมีความรับผิดชอบในการทำงานและความมีระเบียบวินัย
4. ฝึกและส่งเสริมให้เด็กรู้จักคิดแก้ปัญหา การคิดอย่างมีเหตุผล
5. ส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาและให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน
6. เพื่อส่งเสริมให้เด็กพัฒนาทางด้านภาษาและทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์
7. ส่งเสริมให้เด็กรู้จักคิด วางแผน และตัดสินใจในการทำกิจกรรม
8. ส่งเสริมให้เด็กรู้จักปรับตัวในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น รู้จักรอคอย เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และให้อภัย
9. ส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ และสิ่งแวดล้อม
บทบาทครู
1.       จัดเตรียมกิจกรรมเสรีให้พร้อมใช้งานและเพียงพอต่อจำนวนเด็ก
2.       แนะนำ สิตวิธีการเล่นพอสังเขป
3.       สนทนาระเบียนวิธีการเล่น
4.       ให้เด็กเล่นกิจกรรมอย่างอิสระโดยใช้วิธีที่หลากหลาย เพื่อให้เด็กได้เล่นและครูสามารถดูแลอย่างทั่วถึง
5.       ชวนเด็กสนทนาในสิ่งที่เด็กทำ
6.       หากเกิดปัญหาให้ครูช่วยกระตุ้นการคิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง
7.       การเปลี่ยนกิจกรรมอื่นให้เด็กเก็บของเล่นให้วางไว้ที่เดิมให้เรียบร้อยก่อนเลือกหาที่เล่นใหม่
8.       ไท้อนุญาตให้เด็กเคลื่อนย้ายหรือนำของเด็กออกนอกพื้นที่ ที่กำหนด
9.       ให้สัญญาณที่ตกลงกันไว้เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกเวลาและเก็บของเล่นเพื่อจบกิจกรรมเสรี



กิจกรรมเสรีเป็นลักษณะของการส่งเสริมการเล่นอย่างอิสระของเด็ก เด็กมีโอกาสเรียนรู้การเข้าสังคมจากการเล่นผ่านกิจกรรมเสรี ครูคือผู้สนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก จึงควรคอยสังเกตเด็กขณะเด็กเล่น หากว่าบางมุมที่เด็กไม่สนใจเล่นแล้ว ครูควรปรับเปลี่ยนสื่อหรือเปลี่ยนเป็นมุมอื่น เช่น อาจดัดแปลงมุมบ้านเป็นมุมร้านค้า มุมหมอ ครูควรสอนให้เด็กคิดแก้ ปัญหาในกรณีที่บางมุมมีเพื่อนเข้าเล่นจำนวนมากเกินไป บางครั้งเด็กสนใจการเล่นมุมใดมุมหนึ่งเป็นระยะเวลานานอาจทำให้เด็กขาด ประสบการณ์การเรียนรู้ด้านอื่น ครูควรชักชวนให้เด็กเรียนรู้มุมอื่นบ้าง และครูต้องมีการสับเปลี่ยนสื่อหรือเพิ่มเติมเป็นระยะ เพื่อไม่ให้เด็กเบื่อ
ศูนย์การเรียนรู้ (Learning center)
     บริเวณที่จัดให้เด็กได้เรียนรู้และรับผิดชอบตัวเองด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เพื่อน ตามความสนใจ ความต้องการเรียนรู้ รูปแบบการเรียนรู้และระดับพัฒนาการของเด็ก จัดเป็นสัดส่วนในห้องเรียนเพื่อเด็กๆจะหยิบจับมาเล่นได้อย่างอิสระ ศูนย์การเรียนรู้ปฐมวัย จำแนกเป็น 2 ประเภท
1.       ศูนย์การเรียนรู้ถาวร หมายถึง ศูนย์การเรียนรู้ที่ติดตั้งอยู่ในชั้นเรียนตลอดปีไม่มีเปลี่ยนแปลง
2.       ศูนย์การเรียนรู้ชั่วคราว หมายถึง ศูนย์การเรียนรู้ที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว
การจัดกิจกรรมเสรีที่โรงเรียน ครูจะจัดศูนย์การเรียนไว้ในห้องเรียนให้เด็กเลือกเล่นตามความสนใจ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
  • มุมศิลปะ เด็กอาจเล่นปั้นดินเหนียวหรือปั้นแป้งที่ผสมน้ำแล้ว ดินเหนียวหรือแป้งนั้นจะเป็นรูปร่างกลม รูปแบน รูปเหลี่ยม หรืออื่นๆ ได้ตามที่เด็กทำขึ้น แต่หากนำทรายร่วนหรือ แป้งร่วนมาปั้น ก็ไม่สามารถปั้นเป็นรูปร่างได้ การเล่นจึงเป็นประโยชนต่อเด็ก ขณะเด็กเล่นเด็กได้สังเกตจากการสัมผัสวัตถุ ประสาทสัมผัสของเด็กได้ทำงาน ดังการปั้นแป้งหรือดินเหนียวที่กล่าวมานั้น มือเด็กสัมผัสแป้ง เด็กรับรู้ความชื้นของแป้ง จมูกได้กลิ่นแป้งดิบ ตาได้เห็นสี รูปร่างของแป้งที่ปั้นเป็นรูปร่างต่างๆ เด็กจึงรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสตา หู ผิวหนัง จมูก เป็นผลให้เกิดการสร้างปัญญาและความคิดของเด็กงอกงาม ทั้งนี้เพราะเกิดการสร้างกระบวนการทางสมองในการคิดเพื่อการเรียนรู้ การรับรู้ด้วยการสัมผัส การเพิ่มพูนความรู้ของเด็กเกิดการสัมผัสของเล่นและบุคคล
  • มุมเกมการศึกษา เด็กได้รู้จักการจัดพวก การลำดับ การสังเกต จำแนก ทำนาย สรุปภาพการเปรียบ หาเหตุผลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเหตุของการเกิดปัญญาและความสามารถทางวิชาการ เด็กจะเล่นผ่านการใช้ร่างกาย (Sensory motor) หรืออีกนัยหนึ่งคือการเล่นสำรวจ (Exploratory Play) คือ มีความสนใจ สงสัย กระตือรือร้นในสิ่งต่างๆ รอบตัว บางครั้งเด็กเล่นเลียบแบบ เพราะเด็กสังเกต เป็นความสามารถของเด็กที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เป็นการกระทำที่เคลื่อนไหว มีอิริยาบถ มีการใช้ประสาทสัมผัสรับรู้ มีการทวนซ้ำ จะนำเด็กไปสู่การค้นพบ การแก้ปัญหา การเล่นสร้างบางสิ่งบางอย่างขึ้นมาเพราะเด็กเริ่มรู้คุณสมบัติของวัตถุบาง ชนิดแล้ว การเล่นสร้างสิ่งต่างๆนี้ผู้เล่นจะสร้างความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมลักษณะ ต่างๆ โดยเด็กจะนำเอาประสบการณ์ต่างๆ ของตนเข้ามารวมกันทั้งอารมณ์ ความคิด เหตุผล จะสามารถแยกสิ่งแวดล้อมต่างๆ ออกได้ว่าแตกต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร แล้วนำมาหาความสัมพันธ์กัน
  • มุมบทบาทสมมุติ เป็นการเล่นลักษณะจินตนาการ ใช้สิ่งของแทนของเล่นและแทนสิ่งต่างๆ เช่น ใช้ม้านั่งสองขาแทนน้องเล็กๆ ใช้ใบไม้แทนมงกุฎนางฟ้า เป็นต้น ขณะเล่นเด็กจะเปลี่ยนของเล่นสมมุติเป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ เด็กอาจจะเอาท่อนไม้แทนบ้าน แล้วเติมสิ่งของหรือนำออก บ้านก็จะเปลี่ยนเป็นร้านค้าก็ได้โดยใช้คำพูดถ่ายทอดการเล่นออกมาแทน ทั้งนี้เพราะเด็กสามารถมองเห็นเรื่องราวทั้งหมดที่อยู่ในใจหรือในจินตนาการ ของตนเอง การเล่นลักษณะเช่นนี้เราจะเห็นได้ชัดเจนและบ่อยๆ เด็กจะแสดงออกถึงการกระทำหรือเหตุการณ์ขณะเล่นด้วยการเล่นไปพูดไป (Verbal Play) เด็กจะพูดเกี่ยวกับโลกของตน คำพูดอาจจะนำมาจากนิทานที่อ่านหรือฟังมา เช่น เล่นเป็นครู เล่นเป็นพ่อเป็นแม่ เด็กจะเริ่มเล่นกับเพื่อน มีเพื่อนมาเล่นจินตนาการร่วมกัน แต่จะเล่นสมมุติเป็นตัวละครที่แต่ละคนจินตนาการ แสดงถึงเด็กต้องการสังคมในการเล่นการเล่นสมมุติจะเป็นการสร้างโอกาสให้เด็ก ก้าวไปสู่การพัฒนาการที่สูงกว่า การเล่นสมมุติจะมีผลต่อพัฒนาการด้านสติปัญญา ทางภาษา พัฒนาการด้านอารมณ์ และพัฒนาการด้านสังคมเป็นต้น
  • มุมบล็อก เด็กเล่นสร้างก้อนไม้หรือไม้บล็อก นำมาต่อกันตามจินตนาการเป็นรูปทรงต่างๆ อย่างอิสระ
นอกจากนี้กิจกรรมเสรีอาจจัดนอกห้องเรียน ได้แก่ การเล่นน้ำ เล่นทราย จากบ่อน้ำ บ่อทราย ที่จัดขึ้นพร้อมจัดหาวัสดุของเล่นจากร้านค้าและวัสดุเหลือใช้นำมาประดิษฐ์ ขึ้นคล้ายของจริง เช่น นำขวดน้ำพลาสติกมาตัดครึ่งเฉียงออกเป็นสองชิ้นใช้แทนเสียมตักดิน และกรวยกรอกน้ำ เป็นสิ่งที่เด็กชอบเล่นมาก ใช้ตักดิน กรอกน้ำเล่นที่มุมน้ำ มุมทรายที่จัดไว้นอกห้องเรียนเพราะเล่นเลอะเทอะเปรอะเปื้อนได้ ทำความสะอาดง่าย และสะดวก
พ่อแม่ผู้ปกครอง
เด็กปฐมวัยจะเล่น และสร้างแบบการเล่นของตนเองอยู่แล้ว แสดงความเป็นตัวเองตามธรรม ชาติของเด็กวัยนี้ เด็กจะเล่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าที่บ้านหรือโรงเรียน จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ครอบครัวจะส่งเสริมการเจริญเติบโตของเด็กผ่านการเล่น ด้วยความรักและเข้าใจ เพื่อนเล่นของเด็กที่บ้านคือ พ่อแม่ ญาติ พี่น้องและเพื่อนบ้าน ลักษณะการเล่นที่บ้านของเด็กมีลักษณะสอดคล้องกับกิจกรรมเสรีที่โรงเรียน ครอบครัวสามารถสร้างกิจกรรมการเล่นให้แก่เด็กได้ง่ายๆ เช่น การเล่นบทบาทสมมุติตามนิทาน เล่นต่อบล็อก เล่นน้ำ เล่นทราย พ่อแม่อาจหาทราย หาน้ำใส่กะละมัง หรืออ่าง พร้อมวัสดุตักดิน ตักน้ำ บางครั้งครอบครัวมีกิจกรรมไปเที่ยวชายหาด ลูกจะได้เล่นน้ำ เล่นทราย ที่บ้านจัดมุมหนังสือสำหรับเด็ก มุมดนตรี เป็นมุมส่งเสริมการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัวได้ เพื่อส่งเสริมการเข้าสังคมของเด็กปฐมวัย ครอบครัวเป็นหน่วยสังคมพื้นฐานที่อบรมเลี้ยงดูเด็ก บางครั้งพี่น้องวัยใกล้เคียงกันเขาเล่นสมมุติด้วยกันได้ พ่อแม่คอยสนับสนุนการเล่นของเด็ก การเล่นสมมุติอาจจะมีบทบาทอื่นเช่น เป็นบุคคลในชุมชน เป็นแม่ค้า เป็นบุรุษไปรษณีย์ โดยพ่อแม่เป็นผู้สนับสนุนการเล่น เป็นผู้จัดหาสื่อของเล่น และเป็นผู้คอยสัง เกตความสนใจและการเล่นของเด็ก คอยตั้งคำถามให้เด็กหัดคิดและตัดสินใจเล่น สิ่งสำคัญพ่อแม่คือผู้สร้างบรรยากาศที่ดีในการเล่น ใช้ภาษาสุภาพเหมาะสมกับเหตุการณ์ เพื่อให้เด็กได้เลียนแบบการเข้าสังคม กิจกรรมเสรีจึงเป็นกิจกรรมที่สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กปฐมวัย คือเด็กชอบเล่น และเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่จากการเล่น และเด็กวัย 3-5 ปี เป็นระยะเข้าสู่สถานศึกษา จึงเรียนรู้ที่จะปรับตัวเข้าสู่สังคมของเด็กปฐมวัย
อ้างอิง
1. โรงเรียนตันตรารักษ์
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ บุบผา เรืองรอง อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช
3.
กระทรวงศึกษาธิการ. (2546). คู่มือหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2546. กรุงเทพฯ: สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน.
4. อุดมลักษณ์ กุลพิจิตรและคณะ (2555). ชุดอบรมครูปฐมวัย โมดูล 2 ในโครงการพัฒนาครุ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา การศึกษาปฐมวัย การศึกษาพิเศษ บรรณรักษ์และแนะแนว สังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีงบ ประมาณ 2555. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย.
5. Brewer, Jo Ann. (1992). Introduction to Early Childhood Education: Preschool through Primary Grade. U.S.A.: Alvin and Bacon. Gilly, J. M.and Gilly B.H. (1980). Early Childhood in early education. New York: Delmar Publishers Inc.

6. ผศ.ดร.ทิพจุฑา สุภิมารส คณะคุรุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสุรินทร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น